Thursday, November 24, 2005

ความหมายของร้อยกรอง



คำว่า ร้อยกรอง ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Poetry
บางครั้งก็เรียก บทกวี บทประพันธ์ หรือ กวีนิพนธ์
คำว่าร้อยกรอง เป็นคำที่สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรม กำหนดขึ้นใช้เรียกวรรณกรรมที่มีลักษณะบังคับในการแต่ง
เพื่อให้เข้าคู่กับคำว่า "ร้อยแก้ว"
ซึ่งเดิมบทประพันธ์ประเภทนี้ เรียกกันหลายอย่าง
เช่น กลอน กาพย์ ร่าย ฉันท์ มีถ้อยคำมาประกอบประพันธ์กัน
มีขนาดมาตราเสียงสูงต่ำ หนักเบาและสั้นยาวตามรูปแบบที่กำหนดไว้


คำว่าร้อยกรอง เราสามารถแยกศัพท์ได้เป็น 2 คำ
คือคำว่า "ร้อย" กับคำว่า "กรอง"
ร้อยเป็นคำกริยา หมายถึงการเรียงร้อย หรือการเรียบเรียงถ้อยคำ
หรืออาจจะเป็นดอกไม้ก็ได้ เช่น ร้อยดอกไม้
คำว่ากรองเป็นคำกริยา หมายถึงการเรียงร้อยกรอง
เมื่อรวมกัน หมายถึง การกลั่นกรองหรือเรียบเรียงถ้อยคำ
เช่นเดียวกับที่เรานำดอกไม้มาร้อยเป็นพวงมาลัย
จะมีความงดงามแล้วก็อ่อนหวานไพเราะ
ไม่ใช่ว่าเพียงแต่เอาถ้อยคำมาเรียงต่อกันเท่านั้น

มีคำที่น่าสังเกต คือคำว่า กวีนิพนธ์
นักวิชาการบางท่าน ให้ความหมายแตกต่างไป จากร้อยกรอง คือ ร้อยกรองอาจจะเป็นคำประพันธ์ที่นำมาเรียงร้อยให้มีสัมผัสเท่านั้น
แต่ว่า กวีนิพนธ์ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้กล่าวไว้ว่า
กวีนิพนธ์นั้น เป็นการย่อยกรองถ้อยคำ เรียงถ้อยคำตามระเบียบข้อบังคับ
ซึ่งได้แก่มาตราฉันทลักษณะ นั่นคือร้อยกรองทั่วไป กวีนิพนธ์โดยแท้จะต้องแสดงความรู้สึกนึกคิดที่เป็นภาพอันงามด้วย
กวีนิพนธ์เป็นสิ่งวอนใจเรารู้สึกนึกคิด ทำให้เราสมใจในรสของภาษา
และเห็นภาพความคิดต่าง ๆ กระจ่างขึ้น
กวีนิพนธ์เป็นลักษณะยอดเยี่ยมของวรรณคดี
คำร้อยกรองนั้นเป็นเพียงเครื่องประดับประกอบของกวีนิพนธ์เท่านั้น
เพราะฉะนั้นตามความหมายอันนี้ ก็จะได้ว่าร้อยกรอง
คือคำประพันธ์ทั่ว ๆ ไป ที่มีฉันทลักษณ์
แต่ถ้ากวีนิพนธ์จะต้องเป็นร้อยกรองที่มีลักษณะยอดเยี่ยม


ประเภทของร้อยกรอง

ประเภทของร้อยกรองทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ มี 10 ประเภท
ได้แก่

1. เพลงพื้นบ้าน
เป็นร้อยกรองที่สันนิษฐานว่าเกิดก่อนร้อยกรองทุกประเภท
ตั้งแต่ยังไม่มีตัวอักษรใช้อาจจะเรียกว่าวรรณคดีมุขปาฐะ
เช่น เพลงเรือ เพลงกล่อมเด็ก เพลงฉ่อย เป็นต้น
เพลงพื้นบ้านดังกล่าวคาดว่าเป็นร้อยกรอง
ประเภทแรกที่เกิดขึ้น มักจะไม่เคร่งครัดในฉันทลักษณ์

2. กลอน
กลอนเป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นต้นมา
ในความหมายที่เราเข้าใจกันบางคนใช้คำว่ากลอน
แทน ร้อยกรองทุกประเภท เช่น แต่งกลอน แต่งกาพย์
แต่งฉันท์ก็เรียกว่าแต่งกลอน ฉะนั้นกลอนในที่นี้มีความหมาย 2 อย่าง ความหมายหนึ่งคือความหมายรวมของร้อยกรองทุกประเภท
ความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง
เช่น กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด
กลอนดอกสร้อย กลอนสักวา

3. กาพย์
กาพย์นั้นปรากฏในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ในหนังสือมหาชาติคำหลวง ปัจจุบันนี้กาพย์ที่เรานิยมแต่งกัน
ก็คือกาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางค์นาง
รวมทั้งหมดแล้ว กาพย์มีอยู่ประมาณ 20 ชนิด

4. โคลง
เป็นคำประพันธ์ที่เก่าแก่มาก ปรากฏในวรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
เช่นลลิตพระลอ โคลงเป็นร้อยกรอง ที่กำหนดจำนวนคำสัมผัสแล้วก็พิเศษคือ
กำหนดคำเอกคำโท กำหนดวรรณยุกต์เอกโท จึงแต่งค่อนข้างยาก
ส่วนในสมัยโบราณนิยมแต่โคลงคั่น ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีแล้ว

5. ร่าย
เป็นคำประพันธ์โบราณที่ปรากฏตั้งแ ต่ศิลาจารึก
ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ร่ายมีคำสัมผัสบางตอน
อย่างเช่น ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คำพูดสั้น ๆ อย่างนี้
ก็เป็นร่ายคือคำว่า ปลากับคำว่านา ที่สัมผัสกัน
ร่ายมีหลายประเภทเช่นกัน

6. ลิลิต
เป็นร้อยกรองผสมระหว่างโคลงและร่าย
บางครั้งก็นับว่าเป็นคำประเภทหนึ่ง
คือเอาโคลงและร่ายผสมกันถือว่าเป็นคำ
ประพันธ์ประเภทโคลงและร่ายนั่นเอง

7. ฉันท์
เป็นรูปแบบคำประพันธ์ของอินเดีย ซึ่งไทยเรารับมาใช้
มีคำบังคับ ครุ ลหุ ฉันท์ ของอินเดียนั้นไม่กำหนดสัมผัส
แต่ว่า ไทยเราคำคล้องจองกันเราจึงเพิ่มสัมผัส
ฉันท์นั้นมีประมาณ 100 กว่าชนิด
แต่ไทยเรานิยมแต่งและก็ปรากฏ ในตำราฉันท์ของไทยนั้น
มีประมาณ 108 ชนิด

8. กลบท
กลบทก็คือคำประพันธ์โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ที่กล่าวมาแล้ว
แต่ว่าจะมีการเพิ่มบังคับหรือลักษณะพิเศษให้น่าอ่าน
หรือว่ามีเงื่อนไขที่จะต้องแก้ไข จะต้องใช้ความสามารถพิเศษ
ในการที่จะอ่าน เรียกว่ากลบท

9. เพลง
เพลงในที่นี้หมายถึงร้อยกรองที่นำมาประกอบดนตรี
ฉันทลักษณ์ของเพลงนั้นอาจจะเหมือนกับร้อยกรองแบบฉบับ
เช่น เพลงที่ใช้ประกอบดนตรีไทยเดิม เช่น เพลงเต่ากินผักบุ้ง
พม่าเห่ อย่างนี้จะใช้รูปแบบคำประพันธ์ที่เป็นกลอน
ปัจจุบันนี้การแต่งเพลงที่ใช้ดนตรีสากลนั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้กลอน
หรือกลอนสุภาพเสมอไป อาจจะเป็นคำประพันธ์ที่มีลักษณะพิเศษ
ตามทำนองที่แต่งขึ้น
เพลงสากล ปัจจุบันอาจจะมีสัมผัสน้อย แต่อย่างไรก็ตาม
ก็ยังมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกับคำพูดธรรมดา
จัดเป็นร้อยกรองประเภทหนึ่ง

10. คำประพันธ์รูปแบบใหม
ซึ่งอาจจะไม่มีสัมผัสก็ได้ เช่น กลอนเปล่า
แต่กลอนเปล่าก็ยังมีลักษณะพิเศษคือมีจำนวนคำจำกัด
แต่ละวรรคจะไม่ยาวนัก จะมีความพิถีพิถันในการกำหนดถ้อยคำ
อาจจะมีใช้คำซ้ำ ๆ เช่นคำว่ากล้วย กล้วยในทุกบรรทัด
หรือ ลองสัมผัสเดียวกันทุกบรรทัด หรือ อาจจะไม่สัมผัสแน่นอน
แต่ก็นับเป็นร้อยกรองประเภทหนึ่ง ซึ่งเรียกว่ากลอนเปล่า
หรือมีร้อยกรอง ที่เขียนในรูปต่าง ๆ กัน อย่างเช่น
เขียนเป็นรูปหยดน้ำ เขียนเป็นลักษณะพระพุทธรูป
อย่างนี้ เราเรียกว่าเป็นวรรณรูปหรือวรรณลักษณ์
ก็นับเป็นคำประพันธ์อีกประเภทหนึ่ง

ตัวอย่าง
บทร้อยกรองชื่อ "หยาดฝน" ที่วางเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
เหมือนเป็นเม็ดฝนหล่นจากฟ้า ตรงกับเนื้อความที่พรรณาไว้ ดังนี้


เด็ก
คนนั้น
มองสายฝน
ภายนอกหน้าต่าง
หยาดน้ำฝนจากฟ้า
หลั่งมาเป็นสาย
ดู ซิ จ๊ะ
น้ำฝน
ใส
สาว
คนนั้น
มองสายฝน
ภายในหัวใจ
หยาดน้ำฝนจากใจ
หลั่งมาเป็นสาย
ดู ซิ จ๊ะ
น้ำฝน
ขุ่น

(หยาดฝน : ผกาดิน)


ในปัจจุบันนี้จะกล่าวได้ว่า คนไทยมีความกว้างขวางทางความคิด
คือแต่งร้อยกรองหลาย ๆ ประเภท มีกวีสมัยที่คิดร้อยกรอง
รูปแบบใหม่ ๆ แล้วมาประยุกต์จากรูปแบบเดิมก็มี
เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ ในยุคโลกาภิวัตน์ ร้อยกรองก็ได้วิวัฒนาการ
มาเป็นรูปแบบที่หลากหลาย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
และสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช


0 Comments:

Post a Comment

<< Home